COE in Design Materials - Perform analyses, research and knowledge transfer in the field of science to develop the new materials and materials for conservation.
มีการคาดการณ์ว่าในปี 2030 โลกของเราจะเกิดสภาวะการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากการเพิ่มของจำนวนประชากรที่มีมากถึง 8.4 พันล้านคน การนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้จึงต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า ซึ่งในปัจจุบันพบว่ามีการพยายามนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ (reuse) และการรีไซเคิลวัสดุต่าง ๆ เช่น พลาสติก กระดาษ และแก้ว เป็นต้น มีศัพท์ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดคือ การสร้างมูลค่าให้เศษวัสดุ (Upcycle) ซึ่งทางคณะวิทยาศาสตร์ได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงได้สนับสนุนให้กลุ่มวิจัยจากภาควิชาเคมีจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านวัสดุแนวใหม่ (Center of Excellence in Design Materials) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดความรู้ ความร่วมมือด้านการวิจัยที่เกี่ยวกับการเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุและเศษวัสดุจำพวก แก้ว เส้นใยธรรมชาติ และวัสดุอนินทรีย์ เป็นต้น รวมทั้งการบริการวิชาการที่เกี่ยวกับการสร้าง (Creation) การรักษาสภาพ (Conservation) และการซ่อมแซม (restoration) วัสดุและเศษวัสดุ ทางกลุ่มวิจัยมีประสบการณ์ในการทำงานวิจัยเชิงบูรณาการเกี่ยวกับการเพิ่มมูลค่าแกลบซึ่งเป็นของเหลือทิ้งทางการเกษตรให้กลายเป็นแก้ว และมีการผลิตชิ้นงานเครื่องประดับแก้ว และของตกแต่งที่สวยงามโดยร่วมมือกับอาจารย์จากภาควิชาออกแบบเครื่องประดับ คณะมัณฑนศิลป์ และมีการขยายงานวิจัยออกสู่ชุมชน ผลิตแท่งแก้วจากแกลบให้ชุมชนผลิตสินค้าหัตถกรรมผลไม้จิ๋ว ซึ่งเป็นสินค้าที่แสดงอัตลักษณ์ของจังหวัดนครปฐม และมีการนำเศษแก้วจากโรงงานแก้วมาสร้างวัสดุใหม่ที่มีคุณค่ามากขึ้น นอกจากวัสดุแก้วแล้วทางกลุ่มวิจัยยังมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของเส้นใยธรรมชาติทั้งเส้นใยพืชและไหม มีการนำความรู้เกี่ยวกับเรื่องเส้นใยธรรมชาติไปใช้ในการอนุรักษ์สมุดไทยโบราณและผ้าไหมโบราณของวัดราชาธิวาสวิหาร